ประวัติศาสตร์ใหม่ระบบขนส่งสาธารณะ

การให้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 ซึ่งต่อมาปริมาณความต้องการใช้บริการและปัจจัยองค์ประกอบการอื่นๆ ยังเอื้อต่อการเติบโตของรถตู้เพื่อเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่ม โดยรัฐได้เข้ามาจัดระเบียบให้สอดคล้อง เหมาะสม ตามแต่ละช่วงเวลาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้บริการสูงสุด

วันนี้ ปัจจัยรอบด้านในการใช้บริการรถตู้โดยสารเปลี่ยนไป ทั้งปริมาณความต้องการใช้บริการ เทคโนโลยีเพื่อเสริมความปลอดภัย สมรรถนะรถกับสภาพถนน กรมการขนส่งทางบก จึงพลิกประวัติศาสตร์ของการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ขยายผลสู่ระยะยาว นำรถโดยสารขนาดเล็กมาตรฐาน 2 (จ) จำนวนที่นั่งไม่เกิน 20 ที่นั่ง และรถโดยสารมาตรฐาน 2 (ค) จำนวนที่นั่งตั้งแต่ 21 – 30 ที่นั่ง เข้ามาให้บริการทดแทนรถตู้โดยสาร ด้วยมาตรฐานสมรรถนะและโครงสร้างตัวรถ ห้องโดยสารที่ความเหมาะสม มีทางออกฉุกเฉินหรือประตูฉุกเฉิน ระบบเบรกแบบ ABS พร้อมติดตั้ง GPS Tracking และ Speed Monitor เข็มขัดนิรภัย ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง เพื่อตอบโจทย์การเป็นยานพาหนะยุคสมัยแห่งความปลอดภัยในการเดินทาง

ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนมาใช้รถโดยสารขนาดเล็กทดแทนรถตู้โดยสารแล้วในหลายเส้นทาง เช่น เส้นทางกรุงเทพ-กำแพงเพชร, กรุงเทพ-ตราด, กรุงเทพ-พัทยา, จันทบุรี-ระยอง, นครศรีธรรมราช-หาดใหญ่, ซึ่งจะทยอยเปลี่ยนครบถ้วนทุกเส้นทางเพื่อเป้าหมายความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน รวมถึงเส้นทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-เกาะช้าง ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา 3 เส้นทาง ไปยังตราด, ระยอง, ชลบุรี ที่เปิดให้บริการตามนโยบายรถโดยสารเชื่อมสนามบินสู่ชุมชนของกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก รองรับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีทันสมัย รองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระบบตั๋วร่วม e-Ticket System และ Smart Bus Terminal ที่สามารถติดตามตำแหน่งและเวลารถโดยสารในสถานีขนส่งผู้โดยสาร เป็นการพัฒนาระบบรถโดยสารสาธารณะที่มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่น ความมั่นใจ ความปลอดภัย จูงใจให้ประชาชนมาใช้ระบบรถโดยสารประจำทางสาธารณะ ยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ

ที่มา : กรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News