กรมการขนส่งทางบก เดินหน้าพัฒนาเส้นทางรถโดยสารประจำทางในเขต กทม.และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง 269 เส้นทาง เน้นบริการที่ได้มาตรฐาน สะดวกปลอดภัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ด้วยโครงข่ายที่เหมาะสมครอบคลุมทุกพื้นที่เชื่อมต่อระบบการขนส่งอื่น
.
นายธานี สืบฤกษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การยกระดับคุณภาพการให้บริการรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง ภายใต้แผนการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง จำนวน 269 เส้นทาง กรมการขนส่งทางบก ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 เรื่องนโยบายการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ มีผลให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กับผู้ประกอบการรถเอกชนร่วมบริการต้องขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยตรงกับกรมการขนส่งทางบกทั้งนี้เพื่อความชัดเจนในบทบาทและโครงสร้างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกิจการเดินรถโดยสารและการกำกับดูแลการเดินรถโดยสารในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางใน 1 เส้นทางจะมีผู้ประกอบการได้เพียงรายเดียว และต้องดำเนินการตามประกาศนายทะเบียนกลางทุกด้าน อาทิ ความปลอดภัย การจัดการเดินรถ การพัฒนาพนักงาน การบริการ และมาตรฐานตัวรถ เพื่อเป้าหมายให้รถโดยสารสาธารณะเป็นทางเลือกในการเดินทางที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและบริการที่ดีอย่างเป็นระบบ
.
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า ภายใต้แผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง กำหนดเส้นทางปฏิรูป 269 เส้นทางดังกล่าว กรมการขนส่งทางบก ได้จัดกลุ่มเส้นทางเดินรถตามข้อมูลในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางหมวด 1 ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง แบ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเดินรถในเส้นทางแนวเดิม 208 เส้นทาง นำมาเทียบเคียงกับเส้นทางปฏิรูป 269 ซึ่งเส้นทางปฏิรูปรถโดยสารฯ ทั้ง 269 เส้นทาง ประกอบด้วยเส้นทางที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินรถ และเส้นทางที่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินรถ หรือหมายเลขเส้นทาง ซึ่งในอนาคตจะทยอยเดินรถในเส้นทางปฏิรูปฯ ให้ครบทุกเส้นทางภายในปี 2563 เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการและส่งเสริมความปลอดภัยในทุกมิติ โดยเน้นการอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องทุกด้าน อาทิ คุณภาพตัวรถที่มีเทคโนโลยีทันสมัยเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัย ด้วยการติดตั้งกล้อง CCTV ติดตั้งระบบ GPS เพื่อการติดตามรถและพฤติกรรมการขับขี่ตลอด 24 ชั่วโมง มีการนำระบบตั๋วร่วม E-Ticket มาใช้ในการจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร รองรับบัตรสวัสดิการ โครงสร้างตัวรถมีการออกแบบตัวรถในลักษณะรองรับสังคมผู้สูงวัย Universal Design รองรับการเป็น Intelligent System สามารถตรวจสอบการเดินรถผ่าน Application บนสมาร์ทโฟน และต่อยอด การพัฒนาป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ลดทับซ้อนเส้นทาง และช่วยลดระยะเวลาเดินทาง ครอบคลุมทั่วถึงกับการพัฒนาเมือง สามารถเชื่อมต่อ กับทุกโหมดการเดินทาง ทั้งทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ สามารถรองรับการขยายตัวของเมืองและประชากรในอนาคต ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาการจราจรและมลพิษ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และหันมาใช้บริการรถโดยสารประจำทางมากขึ้น
…………………………………….
กลุ่มประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร